หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กัลปพฤกษ์ ต้นไม้แห่งความสมบูรณ์



“ ต้นกัลปพฤกษ์ ”




          สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาอย่างพิเศษคือเราไม่ได้มานำแสดงสถานที่ท่องเที่ยวและโบราณสถานในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคะวันออกเฉียงใต้ แต่ในวันนี้เราจะมานำเสนอข้อมูลของสัตว์และเทพเจ้าที่มี่ความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และข้อมูลที่เราจะมานำเสนอในวันนี้ก็คือ ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นไม้แห่งความสุขและความสมบูรณ์พร้อม!!!!


ความเป็นมาของต้นกัลปพฤกษ์
          กัลปพฤกษ์มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบบริเวณ ป่าแดง ป่าโคก และป่าเบญจพรรณในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ และมีชื่อที่เรียกกันในประเทศไทยตามแต่ละพื้นที่ คือ ภาคกลางและภาคเหนือจะเรียกว่ากาลพฤกษ์ จังหวัดปราจีนบุรีจะเรียกว่าเปลือกชม จังหวัดจันทบุรีจะเรียกว่าแก่นร้าง จังหวัดสุรินทร์จะเรียกว่ากานล์ และในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Pink Cassia หรือ Pink and White Shower Tree




          คนไมยจะมีความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ คือ ชื่อต้นไม้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ ต้นกัลปพฤกษ์ก็เช่นกัน ต้นกัลปพฤกษ์จะมีประวัติเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาต่อมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง จะกล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่า เป็นต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้อยู่บนสวรรค์ สำหรับโลกมนุษย์ ต้นกัลปพฤกษ์จะมาบังเกิดเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยต้นกัลปพฤกษ์จะขึ้นอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ใครต้องการสิ่งของอะไรก็ไปอธิษฐานขอเอาจากต้นกัลปพฤกษ์ดังกล่าวนั้นได้ทุกคน นอกจากนี้ ยังมีคำบรรยายถึงต้นกัลปพฤกษ์ตอนหนึ่งว่า

          “ แลในแผ่นดินอุตตกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง โดยสูงได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์แล ต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์ สรรพเหตุใดๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแล… ”

          ในคัมภีร์โลกสัณฐานกล่าวว่า ท้าวจาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล ทั้ง ๔ พระองค์ คือท้าวธตรฐ จอมภูต รักษาทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก จอมเทวดารักษาทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค รักษาทิศตะวันตกและท้าวกุเวร จอมยักษ์ รักษาทิศเหนือ ทั้ง ๔ พระองค์นี้ล้วนทรงด้วยพระภูษา อันเกิดแต่ต้นกัลปพฤกษ์ทุกพระองค์ สำหรับคนไทยในอดีต ต้นกัลปพฤกษ์ เปรียบได้กับแก้วสารพัดนึกจึงทำให้เกิดความใฝ่ฝันจะได้ไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์กันอย่างกว้างขวาง จนมีผู้นำเอาอุดมการณ์ทางการเมืองมาผูกโยงกับความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์ ดังเช่นกรณี "กบฏผีบุญ" ในภาคอีสาน ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว เป็นต้น และการที่คนไทยภาคเหนือเรียกชื่อต้นไม้ต้นนี้ว่ากัลปพฤกษ์ น่าจะมีสาเหตุหรือความหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของต้นไม้ชนิดนี้อย่างแน่นอน น่าเสียดายที่เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถสืบค้นได้แน่ชัดในปัจจุบัน

ลักษณะของต้นกัลปพฤกษ์




          กาลพฤกษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana craib อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE เช่นเดียวกับขี้เหล็ก ต้นกัลปพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง พบได้มากทางภาคอีสานและภาคเหนือ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือพุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10–15 เมตร เปลือกนอกสีเทาลำต้นมีรอยเป็นเส้นเล็กน้อยแตกกิ่งก้านพุ่งสู่ด้านบนไม่ค่อยเป็นระเบียบ ใบเป็นแผงมีใบย่อยประมาณ 5–6 คู่ออกเรียงตรงกันตามก้านใบเป็นคู่ๆใบบางเรียบปลายใบแหลม ขนาดของใบกว้างประมาณ 2–4 เซนติเมตร ใบยาวประมาณ 4–7 เซนติเมตร ส่วนดอกจะออกเป็นช่อตามกิ่งก้านมีกลิ่นหอมมีสีชมพูแกมขาวดอกบานจะมีความกว้างประมาณ 23 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ ตรงกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้สีเหลืองผลเป็นฝักกลม ยาว มีสีดำ เมื่อแก่เนื้อในฝักมีสีขาวกั้นเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นจะมีเมล็ดเรียงอยู่ภายใน ฝักหนึ่งยาวประมาณ 15–30 เซนติเมตร มีลักษณะใบ และเป็นพุ่มใบแบนกว้าง
         
ศิลปกรรม               

           


          จากข้อมูลในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้พูดถึงเรื่องกัลปพฤกษ์ไว้ว่า
            “ตามคติโบราณเชื่อกันว่าต้นกัลปพฤกษ์ มีอยู่ในแดน สวรรค์ หากผู้ใดปรารถนาสิ่งใด ก็อาจจะไปนึกเอาจากต้นไม้นี้ได”
          ดังนั้น สมัยโบราณจึงได้มีการทำรูปแบบจำลองต้นกัลปพฤกษ์ต้นไม้สารพัดนึก ขึ้นโดยเกี่ยวเนื่องกับงานที่เป็น พิธีหลวงบางโอกาส เพื่อใช้เป็นที่ติดเงินปลีกสำหรับทิ้งทานให้แก่คนยากจน ตัวอย่างเช่น งานพระราชทานเพลิงพระศพหรือศพ เช่น การพระราชทานเพลิงศพท้าวสมศักดิ์ที่วัดสุวรรณารามในรัชกาลที่ 1 มีหมายรับสั่งว่า “อนึ่ง ให้สมุห์บัญชีจัตุสดมภ์เบิกไม้ ไปทำโรงโขนโรงหุ่น แล้ว ให้จัดแจงต้นกัลปพฤกษ์ไม้เสียบลูกกัลปพฤกษ์ แลกระไดขึ้นต้นกัลปพฤกษ์ให้พร้อม” กับ “ให้เกณฑ์ผลมะกรูดผลมะนาว ขุนหมื่นเข้าส้มทิ้งทาน ตำรวจรักษาต้นกัลปพฤกษ์วันละ 2 ต้น”

          ทั้งนี้ โครงพุ่มของต้นกัลปพฤกษ์ โดยทั่วไปมักทำเป็นโครงไม้ผูกเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ แต่ละชั้นจะติดลูกมะนาว มะกรูด ซึ่งเจาะให้เป็นรูใส่เงินปลีกไว้ข้างใน ใต้ พุ่มทำยกพื้นขึ้นเสมอระดับตา ใช้เป็นที่ยืนทิ้งทาน เมื่อถึงเวลาทิ้งทาน พนักงานซึ่ง “นุ่งสมปักลายเสื้อครุย สวมลอมพอก” จะพาดกระไดขึ้นไปยืนอยู่บนยกพื้นใต้พุ่ม ต้นกัลปพฤกษ์ แล้วดึงลูกส้ม มะนาว มะกรูดที่ เสียบปลายไม้ที่เหลาเรียวยาวคล้าย คันเบ็ด วัดเหวี่ยงให้ลูกส้มปลิวไปตกห่างๆต้นกัลปพฤกษ์ คนที่รออยู่ข้างล่างก็จะกลุ้มรุมเข้าชิงลูกส้มกันอย่างสนุกสนาน กัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึกจำลองนี้ จัดเป็นสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วยศิลปะลักษณะประเภทหนึ่ง เป็นประเพณีนิยมที่มี แต่โบราณ แล้วค่อยเสื่อมความนิยมลงในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในระยะหลังๆ ก็ยังจัดทำต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นอีก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้อง กับงานศพแล้ว แต่จะเป็นงานเทศกาลรื่นเริง เช่น ปีใหม่ ก็จะนำสลากของขวัญไปติดไว้ที่ต้นกัลปพฤกษ์ ให้ผู้ร่วมงานได้สอยกัลปพฤกษ์รับของขวัญกันเป็นที่สนุกสนาน

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง



          จันทิปะวนที่เก็จประธานจะปรากฏภาพสลักต้นกัลปพฤกษ์ หรือต้นไม้สารพัดนึก ที่โคนต้นไม้มีหม้อเพชรพลอยอันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวย ด้านข้างปรากฏกินนร-กินนรีรวมถึงวิทยาธรที่กำลังเหาะ ภาพนี้คงเป็นการอวยพรผู้ศรัทธาให้ได้รับความสุขสมบูรณ์

          

ตำนานความเชื่อ



          ต้นกัลปพฤกษ์ หรือต้นกัลปตรุ คือต้นไม้ที่ปรากฏขึ้นในดินแดนหรือกัลป์ของผู้มีบุญ เช่นในอุตรกุรุทวีปหรือในสมัยของพระไมตรยะ ต้นไม้นี้ประทานทุกสิ่งแก่ประชาชนผู้อาศัยในดินแดนหรือในกัลป์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือเพชรพลอย ในดินแดนนั้น ประชานจึงไม่ต้องดิ้นรนทำงานแต่อาศัยเพียงการสอยของมีค่าจากต้นไม้นั้น ในภาพสลักนี้ ทั้งกินนรซึ่งอยู่และต้นกัลปพฤกษ์ก็เป็นต้นไม้ในตามความเชื่อที่ปรากฏ
          ในในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิกถา คัมภีร์โลกสัณฐาน รวมทั้งในพระสูตรต่างๆ ต่างกล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่ในอุตรกุรุทวีปบ้าง อยู่บนบนสวรรค์บ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์ อุตรกุรุทวีปเป็นทวีปที่มีความสุขสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของเครื่องใช้ติดตัว หากใครประสงค์สิ่งใดก็สามารถอธิษฐานจิตใต้ต้นกัลปพฤกษ์จะได้สิ่งของตามปรารถนา และในไตรภูมิพระร่วงของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากมายทั่วไปในอุตรกุรุทวีป ต้นกัลปพฤกษ์มีความสูง 100 โยชน์ กว้าง 100 โยชน์ ผู้ใดปรารถนาหาทุนทรัพย์อันใดก็สามารถสำเร็จตามความระลึกถึง
          นอกจากไตรภูมิพระร่วงแล้ว ในคติเกี่ยวกับพระศรีอาริยเมตไตรย ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ก็กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นจากพุทรานุภาพของพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมไตรยเมื่อทรงตรัสรู้ ซึ่งบังเกิดต้นกัลปพฤกษ์จำนวน 4 ต้นที่ปากประตูเมืองของโลกมนุษย์ แสดงถึงยุคอนาคตที่มหาชนต่างๆ จะอยู่อย่างมีความสุขสมบูรณ์
          ในตำนานเกี่ยวกับประวัติอดีตชาติของพระอินทร์ตามคติทางพุทธศาสนา กล่าวว่าเดิมพระอินทร์เป็นบุรุษผู้ครองเรือนชื่อมาฆะมานพ มีภรรยา 4 คน มีบริวารจำนวน 32 คน ได้สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ศาลาที่พักคนเดินทาง ด้วยอานิสงส์ของบุญกุศลทำให้บังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งก็มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ในสวรรค์ ตามคัมภีร์กล่าวว่าลำต้นวัดความกว้างได้ 3 ถึง 5 โยชน์ สูงถึง 50 โยชน์ แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปรอบๆ ลำต้นทั้งกว้างสูงและยาวเท่ากันคือ 100 โยชน์
          ดังนั้น ต้นกัลปพฤกษ์ จึงเป็นต้นไม้แห่งอุดมคติ เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูลสุขในภพสวรรค์ เป็นมูลเหตุอันหนึ่งซึ่งปรัชญาเมธีโบราณสร้างขึ้นเป็นอุบายเพื่อจูงใจให้คนทำความดี ต้นกัลปพฤกษ์มีเข้ามามีบทบาทในงานพุทธศิลป์ โดยเฉพาะในงานภาพจิตรกรรมฝาผนังของช่างโบราณที่ถ่ายทอดคติไตรภูมิ วาดเป็นภาพต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาร่มเงาใหญ่โต ตามกิ่งก้านสาขามีทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับต่างๆ แขวนอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความสุขสมบูรณ์
          ในสังคมไทยยังได้ใช้ต้นกัลปพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ทานทั้งในรูปแบบเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในจารึกวัดป่ามะม่วงสมัยสุโขทัย ด้านที่ 2 ได้กล่าวถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้จัดตกแต่งต้นกัลปพฤกษ์สำหรับถวายพระมหาสามีสังฆราชและพระเถระผู้ใหญ่ โดยจัดต้นไม้จำลองเป็นต้นกัลปพฤกษ์ นำเครื่องบูชาเข้าตอกดอกไม้หมากพลู ทรัพย์สินและจตุปัจจัยต่างๆ แขวนไว้สำหรับถวายพระสงฆ์ สืบมาจนถึงสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พบว่าในการพระเมรุพระเจ้าแผ่นดินหรือการถวายพระเพลิงราชวงศ์ชั้นสูง หรือในงานเฉลิมฉลองสมโภชต่างๆ จะมีการสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองสำหรับการทิ้งทาน มีการนำเหรียญสตางค์หรือเงินสอดไว้ในลูกมะนาวแล้วแขวนไว้ตามต้นกัลปพฤกษ์ หรือนำทรัพย์สินเงินทองผ้าผ่อนวางไว้ที่โคนต้นเพื่อเป็นทานแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนยากคนจน คนไทยปัจจุบันยังรับรู้คติเรื่องต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ทรัพย์สมบัติต่างๆ จึงได้วิวัฒนาการมาเป็นกิจกรรมสอยกัลปพฤกษ์ โดยจัดสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองแล้วนำฉลากมาแขวนไว้เพื่อนำไปขึ้นรางวัล ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงสะท้อนคติความเชื่อเกี่ยวกับต้นกัลปพฤกษ์ในฐานะสัญลักษณ์ของความสุขความอุดมสมบูรณ์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
          ด้านล่างและวิทยาธรซึ่งเหาะอยู่ด้านบนได้มุ่งหน้ามาเก็บเพชรพลอยซึ่งวางอยู่จนเต็มหม้อที่โคนต้นไม้

         จากข้อมูลทั้งหมดถ้าหากใครได้ดูละครช่อง 7 ลูกไม้ลายสนธยาก็จะเห็นถึงความสวยงามของต้นกัลปพฤกษ์ในดินแดนอุตรทวีป ในส่วนของข้อมูลที่นำมานี่เราก็จะได้รับข้อมูลที่เจาะลึกถึงประวัติและความเชื่อ ตำนาน ของต้นกัลปพฤกษ์อย่างหลากหลาย และในวันนี้ก็ขอจบบล็อกแต่เพียงเท่านี้ค่ะ ขอบคุณที่สนใจมา ณ โอกาสนี้ค่ะ



.......................................................................
แหล่งอ้างอิง
          ดินาร์ บุญธรรม. (2557). ต้นกัลปพฤกษ์ [ ระบบออนไลน์ ]. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561 สืบค้นจากhttp://www.thaistudies.chula.ac.th/2018/09/29/%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C/
            เดชา ศิริภัทร. (2548).  กาลพฤกษ์ : ดอกไม้แห่งกาลเวลาของชาวไทย [ ระบบออนไลน์ ]. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561 สืบค้นจาก https://www.doctor.or.th/article/detail/1848
            เชษฐ์ ติงสัญชลี. (ม.ป.ป.). ต้นกัลปพฤกษ์ที่จันทิปะวน [ ระบบออนไลน์ ]. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561 สืบค้นจาก http://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/sculptureth/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2/item/420-%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%99.html



         
         



วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

บุโรพุทโธ ( Borobudur )



บุโรพุทโธ ( Borobudur )





          สวัสดีค่ะ ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่เราได้รวบรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีต่าง ๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน โดยในวันนี้สถานที่ที่เราจะมานำเสนอนั้นก็คือ กลุ่มวัดบุโรพุทโธ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญต่อศาสนาพุทธ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นสถานที่ที่ถือว่ามีชื่อเสียงเป็นอย่างมากอีกด้วย



ความเป็นมา

            มหาสถูปบุโรพุทโธ หรือ บรมพุทโธ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ที่ภาคกลางของเกาะชวาภาคกลาง โดยบุโรพุทโธเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในศาสนาพุทธ บุโรพุทโธถือว่าเป็นศาสนสถานของที่ใหญ่ที่สุดในโลก



            บุโรพุทโธถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร เป็นสถูปแบบมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-9 หรือ พุทธศักราช 1393 ตั้งอยู่ทางภาคกลางของเกาะชวา บนที่ราบเกฑุ  ทางฝั่งขวาใกล้กับแม่น้ำโปรโก ห่างจากยอกยาการ์ตา ทางตะวันตกเฉียงเหนือ 40 กิโลเมตร บุโรพุทโธสร้างด้วยหินแอนดีไซต์) ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟขนาดใหญ่มหึมาประมาณ 2 ล้านตารางฟุตบนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร สูง 403 ฟุต เป็นรูปทรงแบบปิรามิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกัน 8 ชั้น และใน 8 ชั้นนั้น 5 ชั้นล่างเป็นลาน 4 เหลี่ยม 3 ชั้น บนเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้งสูงสุดมีพระสถูปตั้งสูงขึ้นไปอีก 31.5 เมตร เป็นมหาสถูปที่ระเบียงซ้อนกันเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป บุโรพุทโธตั้งอยู่บนเนินดินธรรมชาติที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 15 เมตร  รูปทรงภายนอกเป็นรูปทรงดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ชองพุทธศาสนา  ดอกบัวขนาดมหึมานี้ลอยอยู่ในบึงใหญ่  ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์  โบราณสถานแห่งนี้และบริเวณรอบๆ เป็นที่ลุ่มและถูกล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำโปรโก (Progo River) ทำให้เจดีย์โบราณบุโรพุทโธเป็นเสมือนดอกบัวลอยอยู่ในน้ำ



ที่ตั้ง



            ตั้งอยู่ในภาคกลางของเกาะชวา บนที่ราบเกฑุ ทางฝั่งขวาใกล้กับแม่น้ำโปรโก ห่างจากยอกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร
( ละติจูด : -7.60778 องศา     ลองติจูด : 110.20361 องศา )


ลักษณะทางสถาปัตยกรรม





             ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบุโรพุทโธแสดงออกถึงความเป็นอัจฉริยะสูงสุดทางศิลปะสมัยไศเลนทรา  ที่ต่างไปจากโบราณสถานทุกแห่งในชวา ประวัติการก่อสร้างมีอยู่ว่า  ในปี ค.ศ. 732  กษัตริย์ชวาราชวงศ์สัญชัย (Sanjaya) ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู)  ที่มาจากอินเดียในยุคนั้น  ราชวงศ์ไศเลนทรานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน  จึงก่อสร้างโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ไว้หลายแห่ง  ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเจดีย์บุโรพุทโธซึ่งกษัตริย์วิษณุแห่งราชวงศ์ไศเลนทราทรงเริ่มสร้างขึ่นในปี ค.ศ. 775 จนกระทั่งมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของกษัตริย์อินทราเมื่อปี ค.ศ. 847 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 70 ปีเศษ  ความมหัศจรรย์ของบุโรพุทโธเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ด้วยรูปแบบและรายละเอียดของศิลปะจากความคิดของช่างในสมัยนั้นโดยสร้างตามแบบศิลปะฮินดู-ชวา  หรือ ศิลปะชวาภาคกลาง ที่ผสมผสานศิลปะระหว่างอินเดียกับอินโดนีเซียเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
            บุโรพุทโธสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัดของกัมพูชาประมาณ 300 ปี  ทำเลที่ตั้งเป็นเนินเขากว้างใหญ่  จำลองมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาไหลมาบรรจบกันเช่นที่ประเทศอินเดีย  ต้นกำเนิดแห่งศาสนาพุทธบริเวณที่มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน  นั่นก็คือแม่น้ำโปรโกและแม่น้ำอีโล



            บุโรพุทโธมีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมคือ เป็นสถูปตั้งอยู่บนพีระมิดทรงขั้นบันได  มีความสูงกว่า 42 เมตรจากฐานชั้นล่าง บุโรพุทโธมีทั้งหมด 10 ชั้น  ซึ่งแต่ละชั้นจะมีภาพสลักนูนต่ำแสดงคติธรรมทางพุทธศาสนาด้วยทัศนคติเกี่ยวกับจักรวาลตามพุทธศาสนาและการเข้าสู่นิพพาน 6 ชั้นนับจากฐานเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบบย่อมุม  คล้ายพีระมิดขั้นบันไดชั้นที่ 7 เป็นฐานวงกลมขนาดใหญ่  ขึ้นไปอีก 3 ชั้น ประดับเจดีย์ทรงระฆังโปร่งฉลุลายเป็นรูปสี่แหลี่ยมข้าวหลามตัด  ครอบองค์พระพุทธรูปองค์เล็กข้างใน ส่วนนี้ มีความเชื่อกันว่าหากยื่นมือไปจนถึงและสัมผัสพระพุทธรูปภายในได้พร้อมอธิษฐานแล้วจะสมหวังและโชคดี  เจดีย์เหล่านี้มีจำนวน 72 องค์ เรียงเป็นแนวล้อมรอบสถูปของชั้นที่ 10 ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานวงกลมใหญ่ของเจดีย์องค์ประธานสูง 150 ฟุต  เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ข้างใน  แต่ปัจจุบันว่างเปล่า
            บุโรพุทโธเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล แบ่งได้เป็น 3 ชั้น คือ ส่วนฐานของเจดีย์เป็นขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น โดยรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมกำแพงรอบฐานมีภาพสลักนูนต่ำราว 160 ภาพอยู่ในส่วนกามาฐานหรือขั้นที่มนุษย์ยังผูกพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขทางโลกและถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ส่วนที่ 2 คือส่วนบนของฐานที่มีขั้นบันไดรูปกลม ฐาน 6 ขั้นที่มีรูปสลักนูนต่ำเกือบ 1,400 ภาพ  ที่แสดงพุทธประวัติ ถือเป็นขั้นรูปธาตุ  หรือ ขั้นที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลส ทางโลกมาได้บางส่วน  และส่วนที่ 3 คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์เล็กๆ 3 ชั้นล้อมรอบสถูปองค์ใหญ่ที่สุด  หมายถึงจักรวาล  คือ ขั้นอธูปธาตุ  ที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป ในชั้นอธูปธาตุนี้สร้างเป็นฐานระเบียงวงกลม 3 ชั้นมีเจดีย์ทรงระฆังโปร่งฉลุลายเป็นช่องสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงรายโดยรอบ  ชั้นบนสุดเป็นฐานวงกลมใหญ่ของเจดีย์องค์ประธาน  ตั้งอยู่กึ่งกลางของสถูป ด้วยลักษณะของเขาพระสุเมรุมาตามปรัชญาทางศาสนาที่ว่าพื้นฐานเจดีย์คือ โลกมนุษย์ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ส่วนยอดสูงสุดคือ ชั้นสรวงสวรรค์หรือนิพพานในคติความเชื่อของศานาพุทธ
            บุโรพุทโธถูกทิ้งร้างเป็นป่ารกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19  และประสบกับภัยธรรมชาติคือแผ่นดินไหว  จนจมอยู่ใต้เถ้าถ่านของภูเขาไฟซึ่งระเบิดอย่างต่อเนื่อง  กระทั่งศตวรรษที่ 20 ยังเกิดน้ำท่วมซ้ำจากเหตุการณ์ฝนตกต่อเนื่องจนจมอยู่ในน้ำลึกถึง 3 เมตร  เป็นเหตุให้ดินภูเขาไฟที่ครอบสถูปบุโรพุทโธอยู่ชื้นแฉะจนทรุดตัว  ทำให้โบราณสถานแห่งนี้ทรุดตัวตามไปด้วย  กระทั้งสแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์  ผู้ถูกส่งมาประจำการเป็นผู้สำเร็จราชการของอังกฤษเพื่อปกครองอาณานิคมชวาในช่วงนั้น ได้เห็นความสำคัญของบุโรพุทโธจึงเริ่มบูรณะขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1855 และสามารถเริ่มเปิดให้ผู้คนทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมชม ต่อมาอินโดนีเซียได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโกในการบูรณะอย่างละเอียดอีกหลายครั้ง  เพื่อที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างที่เป็นโพรงเพราะภูเขาดินภายในทรุดถล่มจากสาเหตุอุทกภัย  การบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1983 ด้วยงบประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในบริเวณบุโรพุทโธมีพิพิธภัณฑ์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การก่อสร้างและความเป็นมาเมื่อองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติเข้าไปช่วยบำรุงรักษาบุโรพุทโธไว้เพื่อไม่ให้ล่มสลายไปกับกาลเวลา  รวมทั้งภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขังเนื่องจากการก่อสร้างบุโรพุทโธเดิมไม่มีการวางระบบระบายน้ำที่ดีพอ  ทำให้พุทธสถานแห่งนี้ทรุดลงเรื่อยๆ  ยูเนสโก้เข้าไปจัดการทำช่องทางระบายน้ำและเสริมฐานเจดีย์ให้แข็งแรงมั่นคงขึ้นนอกจากพิพิธภัณฑ์นี้แล้ว ยังมีรถไฟเล็กบริการพาชมบริเวณรอบๆ  บุโรพุทโธทุกๆ 10 นาที ค่ารถไฟคนละ 1,000 รูเปียห์  คงเป็นการดีหากมีโอกาสไปเยือนพุทธศาสนาสถานแห่งนี้ในวันวิสาชบูชา  เพราะจะมีพระสงฆ์และนักแสวงบุญทั่วสารทิศมาแสวงบุญโดยการเดินทักษิณาวัตรตั้งแต่ประตูใหญ่ด้านทิศตะวันออกซึ่งกว่าจะถึงยอดก็รวมระยะทางทั้งสิ้นราว 5 กิโลเมตรนับเป็นภาพที่งดงามจับตามากสำหรับศาสนิกชนชาวไทย


ลักษณะการก่อนสร้างของบุโรพุทโธ

ลักษณะการก่อนสร้างของบุโรพุทโธ มีความหมายในทางธรรม ดังนี้
    • §  ส่วนฐานของบุโรพุทโธ ประกอบด้วยขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น กำแพงรอบฐานมีภาพสลักที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในความสุข ความปรารถนา ส่วนนี้จึงเปรียบเสมือนยู่ในขั้นกามภูมิ
    • §  ส่วนที่สอง ผนังระเบียงสลักภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกต่างๆ เปรียบเสมือนขั้นตอนที่มนุษย์เริ่มหลุดพ้นจากกิเลศทางโลกได้บางส่วน ถือเป็นขั้นรูปภูมิ
    • §  ส่วนที่สาม คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จำนวน 72 องค์ แต่ละองค์บรรจุด้วยพระพุทธรูปอยู่ภายใน ตั้งเรียงรายโอบล้อมพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ 3 ระดับ จำนวนเจดีย์ 72 องค์นั้น ในทางธรรมแล้วหมายถึง รูป 18  เจตสิก 52  จิต นิพพาน 1 และฐานพระเจดีย์ที่เป็นรูปบัวผลิบานบ่งบอกถึงการรู้ตื่นและเบิกบาน ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ภายในไม่ได้บรรจุสิ่งใดไว้ สื่อให้เห็นถึงความว่าง อันถึงที่สุดของนิพพาน ส่วนนี้เปรียบเสมือนขั้นตอนที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป ถือเป็นขั้นอรูปภูมิ




            โบโรบูดูร์ คงความยิ่งใหญ่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ใกล้สิ้นยุคของศรีวิชัย ซึ่งชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ และอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ บุโรพุทโธจึงได้ถูกลืมเลือนและถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 24 เซอร์โทมัส แสตนฟอร์ด ราฟเฟิล ชาวดัทซ์ ได้ค้นพบบุโรพุทโธในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในระหว่าง พ.ศ.2448-2453 ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ 2513-2533 รัฐบาลอินโดนีเซียได้มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งโดยมีองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเงินทุนอุดหนุนจากบางประเทศที่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย


การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

            โบโรบูดูร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "กลุ่มวัดบรมพุทโธ" เมื่อปี พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลด้านวัฒนธรรมจำนวน 3 ข้อ คือ
            1. เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
            2. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
            3. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์



รูปภาพอื่น ๆ











            จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าบุโรพุทโธเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ในประเทศอินโดนีเซียและในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของศาสนาพุทธในประเทศแถบนี้อีกด้วย ด้วยประวัติศาสตร์ ความเป็นมา สถาปัตยกรรม และศิลปะต่าง ๆ ทำให้บุโรพุทโธเป็นอีกสถานที่หนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าเดินทางไปเยี่ยมชม และท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นอกจากบุโรพุทโธแล้วก็ยังมีสถานที่รอบ ๆ และสถานที่อื่น ๆในอินโดนีเซียที่น่าสนใจ อย่าลืมไปเที่ยวกันนะคะ 



………………………………………………………………………………
บรรณานุกรม
            กนกวรรณ โพธิ์นอก. (ม.ป.ป.). ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวบุโรพุทโธ (Borobudur) [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 สืบค้นจาก http://www.tripdeedee.com/traveldata/bali/bali15.php
            มหานครอาเซียน. (ม.ป.ป.). กลุ่มวัดบรมพุทโธหรือมหาสถูปบุโรพุทโธ [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 สืบค้นจาก http://www.uasean.com/kerobow01/277
            ณัฐพร สินทร. (2556). บุโรพุทโธ [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 สืบค้นจาก https://natthaponbb.wordpress.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B9%82%E0%B8%98/
            สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัทธยาศัยภาคเหนือ. (2558). มรดกโลกในอินโดนีเซีย 1 : กลุ่มวัดบรมพุทโธ [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 สืบค้นจาก http://aseannotes.blogspot.com/2014/07/1_13.html
            โอเชี่ยนสไมล์ทัวร์. (ม.ป.ป.). ข้อมูลท่องเที่ยว ประเทศอินโดนีเซีย [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 สืบค้นจาก http://www.oceansmile.com/IndoBali/Buro.htm